เคล็ดลับดูแลสุขภาพ 8 ประการ โดย หมอแดง ดิ อโรคยา

Last updated: 9 ก.ค. 2563  |  13537 จำนวนผู้เข้าชม  | 


 

เตรียมร่างกายและจิตใจพร้อมสำหรับหน้าฝนนี้รึยังครับ ถ้าใครยังไม่ได้เริ่มดูแลสุขภาพไม่เป็นไรครับเรามาเริ่มพร้อมกัน กับการมีสุขภาพดีแบบองค์รวมกับเคล็ดลับดูแลสุขภาพ 8 ประการ โดย หมอแดง ดิ อโรคยา ดังนี้

1. ควรดื่มน้ำให้พอเพียงในแต่ละวัน
ร่างกายประกอบด้วยน้ำ 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ เลือดประกอบด้วยน้ำ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ ถ้าขาดน้ำ เลือดก็จะข้น หนืด ไหลเวียนไม่สะดวก หัวใจก็จะต้องทำงานหนักเพราะต้องปั๊มเลือดที่หนืดข้นไปเลี้ยงร่างกาย ตับไตก็จะทำงานหนัก ในการขับกรองของเสียออกจากเลือดที่หนืดข้น
การดื่มน้ำที่ถูกวิธี

– หลังตื่นนอนดื่ม 2-3 แก้ว ช่วยให้เลือดไม่หนืด และกระบวนการขับของเสียทำงานได้ดีขึ้น
– ระหว่างวันดื่มให้ได้ วันละ 1.5-2 ลิตร โดยวิธีการแบ่งดื่มครั้งละประมาณครึ่งแก้ว แต่ดื่มบ่อยๆ
– ก่อนและหลังอาหาร 30 นาที ไม่ควรดื่ม หากกระหายให้ใช้การจิบ เพื่อรักษาความเข้มข้นของน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร

*** หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเย็นจัด น้ำเย็นจัดจะลงไปดับไฟย่อยอาหาร (เจือจางน้ำย่อย) จนไฟมอด อาหารจึงไม่ย่อย พากันหมักจนเป็นแก๊สพิษขึ้นมา เผาปาก เผาคอ เผาต่อมไทรอยด์ ต่อมทอนซิลอักเสบ เป็นแผลในปากคอ มีกลิ่นปาก *


2. อาหารเช้าคือมื้อที่สำคัญที่สุด

ตามหลักนาฬิกาชีวิต ควรรับประทานมื้อเช้าในเวลา 7-9 โมงเช้า เพราะเป็นเวลาที่พลังชีวิตเดินผ่านเส้นลมปราณกระเพาะอาหาร…การทานอาหารเวลานี้ จะทำให้ร่างกายได้รับคุณค่าจากสารอาหารอย่างมีประสิทธิภาพสูงที่สุด คนที่ไม่ชอบทานอาหารมื้อเช้า มักทำร้ายร่างกายโดยไม่ตั้งใจเพราะ 

   การอดอาหารในเวลาที่ร่างกายต้องการอาหารอย่างมาก นานวันเข้า จะทำให้เกิดความเสื่อมของเซลล์ เกิดการป่วยด้วยโรคต่างๆ เพราะอวัยวะภายในเสื่อมและหย่อนพิการลง จึงไม่ต้องแปลกใจว่า คนที่ไม่ชอบทานอาหารเช้า แต่ทดแทนด้วยกาแฟและอาหารที่ไม่มีประโยชน์ จะมีสุขภาพร่างกายที่อ่อนแอ อ่อนเพลียเรื้อรัง โรคกระเพาะถามหา และโลหิตจาง ดังนั้นอย่าลืมเติมสารอาหารที่มีประโยชน์ให้กับร่างกายทุกเช้า

3. ลดการบริโภคนม และผลิตภัณฑ์จากนม
เพราะองค์ประกอบของนมวัวกับนมคนนั้นแตกต่างกันมาก นมวัวมีแคลเซียมมากกว่านมคนประมาณ 4 เท่า มีโปรตีนมากกว่า 3 เท่า แต่มีคาร์โบไฮเดรตเพียง 2 ใน 3 ของนมคน โครงสร้างและอัตราการเจริญเติบโตที่แตกต่างกัน ระหว่างลูกวัวกับทารก ทำให้องค์ประกอบเหล่านี้ มีสัดส่วนแตกต่างกัน

   นมวัวเหมาะที่จะใช้เลี้ยงลูกวัว ซึ่งมีน้ำหนักแรกเกิดถึง 40 กิโลกรัม แค่อายุ 2 ปี น้ำหนักก็ขึ้นได้ถึง 900 กว่ากิโลกรัม ส่วนทารกมีน้ำหนักแรกเกิด 2 – 3 กิโลกรัม อยู่จนอายุ 20 ปี น้ำหนักตัวเฉลี่ยก็เพียง 68 กิโลกรัม ซึ่งเป็นอัตราการเจริญเติบโตที่แตกต่างกันมาก

4. รับประทานเนื้อสัตว์ให้น้อยลง ทานผักให้มากขึ้น
โครงสร้างของมนุษย์ไม่ใช่สัตว์กินเนื้อ เป็นสัตว์ประเภท กินผัก ผลไม้ เมล็ดธัญพืชเป็นอาหาร เพราะลำไส้ยาวกว่าสัตว์กินเนื้อมาก แต่น้ำย่อยมีความเข้มข้นน้อยกว่าถึง 20 เท่า การบริโภคเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์ที่มาจากเนื้อสัตว์มากเกินไป ทำให้เส้นทางเดินอาหารอ่อนแอลง นำไปสู่ความผิดปกติของลำไส้ในแบบต่างๆ โปรตีนจากสัตว์เริ่มเน่าทันทีเมื่อสัตว์ถูกฆ่า ซึ่งผิดกับโปรตีนของพืชผักและธัญพืช จะไม่เน่าเสียก่อนที่จะกิน การแช่ตู้เย็น หรือสารกันบูดก็พอจะช่วยให้เนื้อสัตว์ไม่เน่าได้ แต่เมื่อถูกนำมาปรุงอาหารแล้วก็จะเริ่มเน่าเสียแล้ว

   นอกจากนี้ยังมีโรคติดเชื้อในเนื้อสัตว์ สารพิษตกค้างในอาหารที่มาจากสัตว์ด้วย สัตว์ที่เลี้ยงเพื่อเป็นอาหารจะถูกเลี้ยงด้วยฮอร์โมนเพื่อจะได้อ้วนเร็วๆ แล้วต้องโตเร็วๆ ด้วย ก็ต้องใช้ยาปฏิชีวนะเร่ง ไก่ซึ่งเคยใช้เวลาเลี้ยง 8 เดือนกว่าจะนำมาขายเป็นไก่เนื้อได้ ในปัจจุบันเขาเลี้ยงกันแค่ 45 วันก็ขายได้ แล้วสารเคมีแปลกปลอมที่เร่งโต และยาปฏิชีวะนะที่สะสมอยู่ในเนื้อสัตว์จะมีมากเพียงใด

5. ลดการบริโภคน้ำตาลลง
เราทราบกันดีว่าน้ำตาลนั้นให้พลังงานแก่ร่างกาย เมื่อเรารู้สึกเหนื่อยถ้าได้ดื่มอะไรหวานๆ เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน เครื่องดื่มชูกำลังที่วางขายกันดาษดื่น เราก็จะรู้สึกสดชื่นมีกำลัง แต่สักพักก็จะรู้สึกเหนื่อยใหม่ ก็ดื่มกินกันใหม่ โดยไม่ได้คิดถึงโทษจาการบริโภคน้ำตาลมากเกินไป ปกติแล้วเราควรบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 7 ช้อนชาต่อวัน 

   เพื่อไม่ให้ตับอ่อนเราต้องทำงานหนักในการผลิตอินซูลินเพื่อมาจัดการกับน้ำตาล แต่ทุกวันนี้เราบริโภคน้ำตาลกันจนล้น เมื่อน้ำตาลมากเกินไป ร่างกายก็จะจัดการนำไปเก็บไว้ที่ตับและกล้ามเนื้อในรูปของไขมัน รอเวลาขาดแคลนจึงจะนำออกมาใช้

   ไม่ใช่มีแค่โรคเบาหวานอย่างเดียว มีโรคอีกมากมายที่เกิดจาก “ความหวาน” นี้ ความหวานนี้เป็นอาหารที่เชื้อโรคต่างๆ ชอบมาก เชื้อรา แบคทีเรีย จุลินทรีย์ จะพากันเริงร่าเมื่อมีความหวาน สังเกตว่าเมื่อบริโภคหวาน ไม่ว่าจากน้ำตาลโดยตรง หรือจะเป็นผลไม้หวานมากๆ จะมีอาการคัน เชื้อรากำเริบ และจะรู้สึกเมื่อยเนื้อเมื่อยตัวมาก

   รสหวานนั้นเป็นหยาง (ร้อน) เมื่ออาหารที่รับประทานเข้าไปไม่ย่อย และเมื่อไม่ย่อยบวกกับความหวานก็จะเกิดการหมัก กลายเป็นกรด เป็นแก๊สเสียขึ้น และถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย กระแสเลือด เมื่อร่างกายถูกหล่อเลี้ยงด้วยของเสียก็ย่อมเจ็บป่วย

6. ควรเข้านอนไม่เกิน 5 ทุ่ม
ปัจจุบันเราต่างพากันขยายเวลากลางวันเข้าไปทดแทนเวลากลางคืน ไม่ยอมหลับยอมนอนกัน ดูทีวี เล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ เที่ยวกลางคืน หรือไม่ก็ทำงานกันทั้งคืน แล้วก็มานอนเอาตอนรุ่งสาง โดยมีความคิดว่า มันเงียบดี ไม่มีใครมารบกวน ได้งานเยอะ เห็นมาหลายรายว่าอยู่ได้ไม่กี่น้ำ ทำอยู่ได้ไม่กี่ปี ก็จะค่อยๆ สะสมความเจ็บป่วย มีโรคสะสมเพิ่มขึ้นๆ จนกระทั่งหนักหนาสาหัสนั่นแหละถึงจะรู้สึกตัว

   ชีวิตของเรานั้น ต้องมีชีวิตอยู่จนกว่าจะหมดอายุไข เสื่อมตามวัย และเสียชีวิตไปเอง ดังนั้น ต้องดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ดำเนินชีวิตโดยยึดนาฬิกาแห่งชีวิตบ้าง เราควรจะนอนไม่เกิน 5 ทุ่ม

7. เอาพิษออกจากร่างกาย
ปัจจุบันนี้เราต้องเผชิญกับ “พิษ” ที่มีอยู่รอบตัวเรา มีทั้งสารพิษ อากาศที่เป็นมลพิษ อาหารที่มีพิษ รวมทั้งพิษที่เราสร้างขึ้นเองในร่างกาย ที่เกิดจากการย่อยไม่ได้ ถ่ายไม่ดี อาหารก็คั่งค้างหมักหมมกลายเป็นสารพิษอยู่ในกระเพาะลำไส้ แล้วถูกดูดซึมเข้าไปหล่อเลี้ยงร่างกาย เข้าอยู่ในกระแสเลือด ร่างกายจึงอุดมด้วยพิษ การเอาพิษออกจากร่างกายทำให้หลากหลายวิธี เช่น

– สวนล้างลำไส้ พิษที่เยอะที่สุดคือลำไส้ใหญ่ ที่ยาวประมาณ 5-6 ฟุต ถ้าอาหารไม่ย่อยด้วยแล้ว อาหารที่ว่าดีๆ ที่รับประทานเข้าไปก็จะไหลมาคั่งค้างเน่าเหม็นอยู่ที่ลำไส้ใหญ่นี้ ถ้าเป็นไปได้ ลองหาเวลาเข้าคอร์สล้างพิษตับก็เป็นวิธีที่เร็วที่สุด
– อดอาหาร 24 ชั่วโมง โดยดื่มแต่น้ำเปล่า น้ำผลไม้ หรือผลไม้ชนิดเดียวทั้งวัน โดยมากจะใช้ มะละกอ แคนตาลูป หรือฝรั่ง เพื่อกระตุ้นให้กระบวนการขับพิษในร่างกายทำงาน
– นวดกดจุด นวดตัว นวดเท้า การกัวซา (ขูดพิษที่ผิวหนัง) เพื่อขับของเสีย
– รับประทานยาถ่ายหรือยาระบายบ้าง เช่น ส้มแขก มะขามแขก ธรณีสัณฑะฆาต จตุผลาธิกะ ตรีผลา หรือเบญจพันธุ์
– ทำ Oil Pulling

8. อย่าลืม แบ่งเวลาเพื่อออกกำลังกายในแต่ละวันแต่พอดี
ไม่หักโหมหรือละเลย และหมั่นสร้างความดี ทำให้จิตใจสบาย ถ้ามีความเกลียดชังในหัวใจ โรคภัยจะมาเยือน

   หากทุกคนปฏิบัติตามนี้ได้ย่อมจะมีสุขภาพแข็งแรง แม้ว่าตอนเริ่มต้นจะรู้สึกว่าทำยาก แต่จงจำไว้ว่าร่างกายเป็นเสาหลักที่ทำให้เราประสบ จึงต้องดูแลรักษาร่างกายซึ่งเปรียบเสมือนสิ่งล้ำค้าไว้ อาจจะต้องบังคับตัวเองบ้างก็มิใช่เรื่องยากเกินไป 

   ถ้ายืนหยัดทำอย่างนี้อย่างต่อเนื่อง ปรับเปลี่ยนจนเกิดความเคยชิน การมีสุขภาพดีก็จะกลายเป็นเรื่องง่ายและติดเป็นนิสัย ทั้งนี้เพราะร่างกายของเราจะตอบสนองต่อตัวเราเอง

Source : thearokaya.co.th

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้